ตัวกันไฟย้อน Smart Meter 3 เฟส รุ่น DTSU666-HW จิ๋วแต่แจ๋ว

Last updated: 4 ก.ย. 2567  |  198 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตัวกันไฟย้อน Smart Meter 3 เฟส รุ่น DTSU666-HW จิ๋วแต่แจ๋ว

ตัวกันไฟย้อน Smart Meter 3 เฟส รุ่น DTSU666-HW จิ๋วแต่แจ๋ว


จากบทความ ขอเวลา 5 นาที คุณจะเข้าใจและติดตั้งตัวกันไฟย้อน (Smart Power Sensor) ได้ นั้นได้พูดถึงตัวกันไฟย้อนรุ่น DTSU666-H ซึ่งเป็นตัวกันไฟย้อนรุ่น 3 เฟส ที่มาพร้อม CT มี Ratio : 250A/50mA โดยที่เลขตัวหน้า 250A คือกระแสไฟสูงสุดฝั่ง Primary ที่ CT วัดได้จากการคล้อง CT กับสายเมน กระแสไฟสูงสุดที่ CT รุ่นนี้วัดได้คือ 250A และเมนเบรกเกอร์ของหน้างานต้องมีพิกัดกระแสน้อยกว่าหรือเท่ากับ 250A ด้วย ส่วนเลขตัวหลัง 50mA คือกระแสไฟฝั่ง Secondary ที่ต่อไปยังตัวกันไฟย้อน

ถ้าหน้างานเป็นโรงงานหรือคอนโดมิเนียมที่มีการใช้ไฟเยอะ จะมีสายไฟเมนขนาดใหญ่ และบางที่สายไฟเมนเป็นสายควบ (มีสายไฟมากกว่า 1 เส้น ต่อ 1 เฟส เช่นสายควบ 2 เส้น ต่อ 1 เฟส) เมนเบรกเกอร์ก็มีขนาดใหญ่ พิกัดกระแสเกิน 250A ด้วย เราจะใช้ตัวกันไฟย้อนรุ่น DTSU666-H ไม่ได้เพราะ CT มีรูขนาดเล็ก และสามารถวัดกระแสได้ไม่เกิน 250A เท่านั้น

กรณีแบบนี้เราต้องใช้ตัวกันไฟย้อนรุ่น DTSU666-HW แทน เพราะสามารถต่อกับ CT ที่มี Ratio : X/5A โดยที่ X มีค่าสูงสุด 1000A เลยทีเดียว และ CT ที่มีเลขตัวหลัง 5A หาซื้อได้ง่าย


รูปที่ 1 - ตัวกันไฟย้อน Smart Meter รุ่น DTSU666-HW



 

รูปที่ 2 - สเปคของตัวกันไฟย้อน Smart Meter รุ่น DTSU666-HW


รูปที่ 3 – CT แบบ Split Core ขนาดใหญ่ Ratio 400/5A ที่ใช้ได้กับตัวกันไฟย้อน DTSU666-HW

การเชื่อมต่อตัวกันไฟย้อน DTSU666-HW


การต่อตัวกันไฟย้อน DTSU666-HW ไปยังอินเวอร์เตอร์ Huawei เราต่อผ่านสาย RS485 เหมือนกับรุ่น DTSU666-H

จากรูปที่ 4 ด้านล่างของตัวกันไฟย้อน DTSU666-HW เป็นด้านที่ไฟบ้านป้อนเข้ามา ส่วนด้านบนคือด้านที่ไฟออกไปยัง Inverter

พอร์ทหมายเลข 24 คือ พอร์ท RS485-A ใช้ต่อกับสาย RS485-A ของ Inverter

พอร์ทหมายเลข 25 คือ พอร์ท RS485-B ใช้ต่อกับสาย RS485-B ของ Inverter

พอร์ทหมายเลข 31,33 คือ พอร์ทที่ต่อกับ CT เฟส 1

พอร์ทหมายเลข 34,36 คือ พอร์ทที่ต่อกับ CT เฟส 2

พอร์ทหมายเลข 37,39 คือ พอร์ทที่ต่อกับ CT เฟส 3

 
รูปที่ 4 – พอร์ทของตัวกันไฟย้อน DTSU666-HW

การเชื่อมต่อตัวกันไฟย้อน DTSU666-HW มี 2 แบบคือ แบบต่อตรงกับสายไฟเมน โดยไม่มี CT คล้องสายเมน และแบบที่ 2 ต่อผ่าน CT

ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างการเชื่อมต่อตัวกันไฟย้อน DTSU666-HW เข้ากับ Inverter Huawei ที่มอนิเตอร์ระบบผ่าน Smart Dongle นะครับ ซึ่ง DTSU666-HW เป็นระบบ Zero-Export ที่ใช้กับ Inverter Huawei ได้สูงสุดถึงรุ่น 100KW เลยทีเดียว (ข้อมูลจาก MEA Zero Export Controller List ฉบับวันที่ 26 ก.ค. 2567)

ในรูปที่ 5 เป็นการต่อตัวกันไฟย้อน DTSU666-HW แบบต่อตรง ซึ่งการต่อแบบนี้ใช้ได้กับหน้างานที่มีกระแสไฟไหลผ่านสายเมนไม่เกิน 80A ถ้าเกินกว่านั้นจะทำให้ตัวกันไฟย้อนเสียหาย

ข้อดีของแบบต่อตรง คือ ประหยัด ไม่ต้องต่อ CT เพิ่ม แต่ข้อเสียคือ ต้องดับไฟและตัดสายเมน เพื่อต่อตรงมายังตัวกันไฟย้อนก่อน แล้วค่อยต่อสายเมนอีกท่อนไปยังโหลด ทำให้ไม่สะดวกในการติดตั้งเพราะต้องมีการตัดต่อสายเมนใหม่

 

รูปที่ 5 – การต่อตัวกันไฟย้อน DTSU666-HW แบบต่อตรงกับสายไฟเมน (ไม่มี CT) กระแสไฟไม่เกิน 80A


ในรูปที่ 6 เป็นการต่อตัวกันไฟย้อน DTSU666-HW แบบต่อผ่าน CT ซึ่งการต่อแบบนี้ใช้ได้กับหน้างานที่มีกระแสไฟไหลผ่านสายเมนเกิน 80A (ในทางปฏิบัติถ้าสายเมนมีกะแสไฟไหลผ่านน้อยกว่า 80A ก็สามารถต่อ CT ได้เช่นกัน)

ข้อดีของแบบต่อผ่าน CT คือ ติดตั้งง่ายโดยคล้อง CT ที่สายเมน ก็สามารถวัดกระแสไฟได้เลย แต่ข้อเสียคือ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการซื้อ CT โดยเฉพาะ CT รุ่น Split Core ที่มีรูใหญ่ ราคาค่อนข้างสูง

 

รูปที่ 6 – การต่อตัวกันไฟย้อน DTSU666-HW แบบมี CT กระแสไฟเกิน 80A


การเซ็ทค่า Parameter ของตัวกันไฟย้อน DTSU666-HW


 


รูปที่ 7 – การเซ็ทค่าของตัวกันไฟย้อน DTSU666-HW

จากรูปที่ 7 การเซ็ทค่า Parameter ของ DTSU666-HW มีค่าสำคัญ 3 อย่างที่ต้องเซ็ท คือ

1. CT – คือ ค่า CT Ratio ของ CT ที่คล้องสายไฟเมน เช่น CT 400/5A จะต้องเซ็ทค่า CT Ratio = 80  (มาจาก 400/5 = 80)

2. NET – คือ Network ของระบบไฟฟ้าที่หน้างาน มี 2 แบบ คือ ระบบไฟ 3 เฟส 3 สาย และ 3 เฟส 4 สาย

ถ้าเป็นระบบ 3 เฟส 3 สาย ต้องเซ็ทค่านี้เท่ากับ 1
ถ้าเป็นระบบ 3 เฟส 4 สาย ต้องเซ็ทค่านี้เท่ากับ 0  (ประเทศไทยใช้ระบบไฟ 3 เฟส 4 สาย)

3. SPEC - คือลักษณะการต่อตัวกันไฟย้อน มี 2 แบบ คือต่อตรง (ไม่มี CT) และต่อผ่าน CT

ถ้าต่อตรง ต้องเซ็ทค่านี้เท่ากับ 1
ถ้าต่อผ่าน CT ต้องเซ็ทค่านี้เท่ากับ 0

ตัวอย่าง ถ้าติดตั้งโซล่าเซลล์ 50KW ที่ จ.ชลบุรี สายไฟเมนมีขนาดใหญ่ เป็นสายควบ 2 เส้น ต้องใช้ CT Split Core ขนาดรู 8 x 12cm. มี CT Ratio 1000/5A จะต้องเซ็ทค่า Parameter ดังนี้

CT = 200   
(คิดจาก 1000/5 = 200)


NET = 0   
(ระบบไฟ 3 เฟส 4 สาย)

 

SPEC = 0
(ต่อผ่าน CT)

แหล่งอ้างอิงรูปภาพประกอบ

DTSU666-HW Smart Power Sensor Quick Guide

Smart Power Sensor DTSU666-HW Datasheet

IMARI CT Datasheet


หมายเหตุเรื่องลิขสิทธิ์บทความ

ลิขสิทธิ์บทความโดย บริษัท ริช พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด ห้ามคัดลอกบทความหรือเผยแพร่ส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อประโยชน์ในทางพาณิชย์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากทางบริษัทในการใช้เพื่อเผยแพร่เป็นความรู้เท่านั้น และต้องให้เครดิตกับทางบริษัทโดยใส่ URL Link ไว้ในเว็บไซท์ของผู้เผยแพร่ด้วย ถ้าผู้ใดละเมิดลิขสิทธิ์ทางบริษัทสามารถดำเนินคดีกับท่านได้ แต่เราไม่อยากทำแบบนั้นหรอกครับ ที่ทำได้คือเสียความรู้สึกเท่านั้น เพราะแต่ละบทความที่เขียนนั้นต้องอาศัยเวลา ความรู้ และประสบการณ์เพื่อถ่ายทอดครับ

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้